Principes généraux du droit (PGD) หลักกฎหมายทั่วไป(กม.ทั่วไป), หลักที่วางโดยศาลปกครอง(กม. ปกครอง), หลักกฎหมายทั่วไปที่นานาประเทศยอมรับ(กม.ระหว่างประเทศ)
คำนี้เมื่อแปลตามตัวแล้วก็คือ หลักทั่วไปของกฎหมาย จึงดูเหมือนว่าไม่น่าจะสร้างปัญหาในการอ่านแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม คำว่า Principes généraux du droit ในกฎหมายมหาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายปกครอง จะมีความหมายพิเศษ โดยจะหมายถึง หลักต่างๆ ที่ถูกวางโดย Conseil d'Etat ในฐานะศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศส (ดูเพิ่มเติม Principes fondamentaux reconnus par les lois de la République)
โดยเราสามารถพบหลักทั่วไปดังกล่าวได้ในคำตัดสินต่างๆของ Conseil d'Etat ตัวอย่างเช่น หลักความเสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณะ หรือ l'égalité devant les services publics (CE 9 mars 1951 Société des concerts du concervatoire), หลักบังคับให้ฝ่ายบริหารยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ผิดกฎหมาย หรือ l'obligation d'abroger des règlements illégaux (CE 3 février 1989 Compagnie Alitalia) และ หลักความไม่มีผลย้อนหลังของกฏต่างๆ หรือ la non-rétroactivité des actes administratifs (CE 25 juin 1948 Société du Journal "L'Aurore") เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เคยวางหลักทั่วไป และให้คำจำกัดความหลักนั้นว่า Principe généraux du droit แต่ Conseil d'Etat ได้ออกมาระบุว่าหลักนั้นๆไม่ใช่ Principe généraux du droit
ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า Principes généraux du droit มีศักดิ์เท่ากับกฎหมาย (loi) แต่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายขัดกับหลักนี้ได้ (ดู G. CORNU, Vocabulaire juridique, PUF) อย่างไรก็ตามในการเรียนการสอนของประเทศฝรั่งเศสมีทฤษฎีที่เห็นว่า อำนาจในการตรากฎหมายเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ศาลจึงไม่อาจวางหลักที่จะมีค่าเท่ากับกฎหมายได้ จึงเห็นว่า หลักที่ศาลวาง หรือ Principes généraux du droit นั้นจึงมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมาย (valeur infra-législative) (ดู R. CHAPUS "Droit administratif général" Précis Domat)
อย่างไรก็ดี ทุกฝ่ายเห็นว่า Principes généraux du droit มีศักดิ์สูงกว่ากฏต่างๆ (règlement) ที่ออกโดยฝ่ายบริหาร (valeur supra-décrétale)
นอกจากนี้ เรายังอาจพบคำว่า principes généraux du droit ในกฎหมายระหว่างประเทศด้วย โดยจะหมายถึง หลักทั่วไปของกฎหมายที่ได้รับการยอมรับจากประเทศที่มีอารยธรรม (Principes généraux reconnus par les nations civilisées) เราจะพบการอ้างถึงหลักต่างๆนี้ได้ในคำพิพากษาของศาลโลก (Cour internationale justice) และในคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ (Décisions arbitrales)
ตัวอย่างของหลักทั่วไปของกฎหมาย ในกฎหมายระหว่างประเทศ ได้แก่ หลักสุจริต (bonne foi), หลักความเสมอภาคของโจทก์และจำเลยในคดี (égalité des parties à une sentences), ลาภมิควรได้ (enrichissement sans cause) และหลักความรับผิดของรัฐ (responsabilité des Etats) เป็นต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น